วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2552

นักวิชาการ จวกรัฐ แก้เด็กติดเกมผิดทาง ชี้ วธ.ไม่ควรรับผิดชอบ เพราะไม่มีความรู้


“นักวิชาการ” เสนอ 4 ยุทธศาสตร์แก้เด็กติดเกม จวกรัฐ แก้ปัญหาผิดทางเหตุมองผลแต่ด้านลบ ระบุ วธ.ไม่ควรดูแล เหตุไม่มีความรู้เรื่องเกมดีพอ
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นายภีรวัฒน์ นนทะโชติ นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เปิดเผยว่า ในการแถลงข่าวเรื่อง “นักวิจัย วช.พบวิธีป้องกันและแก้ปัญหาเด็กติดเกม” เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้นำเสนอการศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ปัญหาการติดเกมคอมพิวเตอร์ของนักเรียนในมัธยมศึกษา สังกัดพื้นที่การศึกษาในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 396 คน
สามารถสรุปได้ทั้งหมด 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.การสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว ซึ่งสถานศึกษาจะต้องจัดสัมมนาหรือกิจกรรมระหว่างผู้ปกครองและนักเรียนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัว
2.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง โดยสนับสนุนการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมศักยภาพของตนเองในแง่บวกและตระหนักในความสามารถของตนเอง
3.ส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคม ด้วยสร้างสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้น่าอยู่ ปราศจากเกมและการพนัน รวมทั้งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน ด้วยการสร้างเครือข่ายส่งเสริมคุณธรรมนำความรู้ระดับจังหวัด และ
4.การส่งเสริมด้านการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยจะต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองและนักเรียนรู้ถึงโทษของการเล่นเกม รวมทั้งต้องควบคุมเกมคอมพิวเตอร์ที่ไม่เหมาะสมและไม่มีลิขสิทธิ์ ตลอดจนผลักดันปัญหาเด็กติดเกมเป็นวาระแห่งชาติ
“ปัจจุบันเกมคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อบรรเทาวิกฤตปัญหา แต่เหมือนว่ายิ่งแก้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สาเหตุมาจากการกำหนดมาตรการต่างๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดที่มองว่าเกมเป็นปัญหาเชิงลบเพียงด้านเดียว ที่สำคัญ การแก้ปัญหาที่ผ่านมา แยกเด็กออกจากเกมโดยไม่ได้ศึกษาวัฒนธรรมของเด็ก ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงเป็นเพียงปลายเหตุเท่านั้น ประกอบกับนโยบายไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน” นายภีรวัฒน์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต นักวิจัยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการสร้างภูมิคุ้มกันการติดเกมออนไลน์สำหรับเยาวชน กล่าวว่า จากการศึกษาบทบาทของภาครัฐในการกำกับดูแลเกมออนไลน์นั้นมีการดำเนินงานในรูปต่างๆ ดังนี้ การออกและบังคับใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ การเฝ้าระวังและการตรวจสอบ สร้างความรู้เกี่ยวกับการติดเกม การแสดงหาแนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของเกมคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์ รวมทั้งบทบาทภาคประชาสังคม ส่งเสริมให้อินเทอร์เน็ตให้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ การมีส่วนร่วมของชุมชน